วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2551

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ขมิ้นชัน



เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ขมิ้นชัน


ขมิ้นชัน เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ เนื่องจากมีคุณประโยชน์และงานวิจัยทางด้านการแพทย์กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้
1. มีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหาร โดยช่วยลดท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร บำรุงตับ ลดการเจ็บป่วยจากโรคลำไส้เรื้อรัง
2. มีประโยชน์ต่อระบบหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ และ สมอง โดยช่วยในเรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือด ลดการตายของกล้ามเนื้อหัวใจและป้องกันเซลล์สมองตายจากการขาดเลือด
3. มีประโยชน์ในด้านการช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งหลายชนิด ได้แก่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดโลหิตขาว มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และอาจลดมะเร็งปากมดลูกอีกด้วย
4. มีประโยชน์ในด้านช่วยบำรุงสมอง และอาจช่วยเรื่องอัลไซเมอร์
5. ช่วยฆ่าเชื้อมาเลเรีย

ขมิ้นชันมี ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma longa Linn., Curcuma domestica Valeton. ชื่อวงศ์ Zingiberaceae ชื่อท้องถิ่น ขมิ้นแกง, ขมิ้นชัน, ขมิ้นหยวก, ขมิ้นหัว, ขี้มิ้น, ยากยอ, สะยอ, หมิ้น ส่วนที่ใช้คือ เหง้าสดและแห้ง
ขมิ้นเมื่อใช้ภายนอก มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราและแบคทีเรียได้หลายชนิด แต่บทความนี้จะกล่าวเฉพาะ ประโยชน์ของขมิ้นที่ใช้รับประทานเท่านั้น

ประโยชน์และงานวิจัยทางด้านการแพทย์
ระบบทางเดินอาหาร

ช่วยท้องอืดเฟ้อ ลดแผลในกระเพาะ ช่วยย่อยอาหาร บำรุงตับ ลดการปวดมดลูก ลดการเจ็บป่วยจากโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
ขมิ้นชันช่วยแก้ท้องอืดเฟ้อด้วยการขับลม ( อ้างอิงที่ 1 ) นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ( อ้างอิงที่ 2, 3 ) และฤทธิ์ป้องกันตับอักเสบจากสารพิษอีกด้วย ( อ้างอิงที่ 4, 5 ) จากผลทั้งหมดดังกล่าว ขมิ้นจึงมีผลช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเนื่องจากแผลในกระเพาะได้ และช่วยแก้ท้องอืดเฟ้อและช่วยย่อยอาหาร

ระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจและสมอง
เคอร์คิวมินในขมิ้น มีความเป็นสารต้านอนุมูลอิสระมากเพียงพอ และมีงานวิจัยในหนูทดลอง ว่าลดการเกิดปริมาณกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดได้จริง โดยการวิจัยได้ทดลองผูกเส้นเลือดหัวใจ ให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย กลุ่มที่ได้รับสารเคอร์คิวมิน จะมีปริมาณกล้ามเนื้อหัวใจตายน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ( อ้างอิงที่ 6 )
ในทำนองเดียวกัน เคอร์คิวมินในขมิ้น มีผลในการป้องกัน เซลล์สมองตายจากการขาดเลือด ได้ จากกลไกการต้านอนุมูลอิสระ ไม่ได้เกี่ยวข้องใด ๆ กับการแข็งตัวของเกร็ดดเลือด ( อ้างอิงที่ 7 )

ขมิ้นช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งหลายชนิด
ปัจจุบันนี้ ขมิ้นได้รับการวิจัยมากขึ้น และพบว่า สามารถให้เสริมกับยาต้านมะเร็งได้เป็นอย่างดี เพราะช่วยกัน ทำลายเซลล์มะเร็งโดยกลไกอื่น ๆ อีกเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากยาต้านมะเร็ง ( อ้างอิงที่ 8 ) และขมิ้นยังได้รับคำแนะนำว่า น่าจะมีบทบาทในการป้องกันมะเร็งได้มาก เพราะมีกลไกป้องกันมะเร็ง โดยออกฤทธิ์ที่เอนไซม์ ระยะหนึ่งและสอง
( Phase I and II carcinogen-metabolizing enzymes ) ในการทำงานก่อมะเร็งของสารเหนี่ยวนำมะเร็งอีกด้วย ( อ้างอิงที่ 9 )

เคอร์คิวมินในขมิ้น มีฤทธิ์ยับยั้ง และทำลายเซลล์มะเร็งของมนุษย์ได้หลายชนิด เช่น เซลล์มะเร็งตับ เซลล์มะเร็งเม็ดโลหิตขาว T cell Leukemia เซลล์มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ Bladder cancer cell เซลล์มะเร็งปอด ชนิด non small cell Carcinoma ทำให้มีการเสนอแนะว่า ขมิ้นชัน น่าจะมีบทบาทในการป้องกันมะเร็งปอดในผู้ที่สูบบุหรี่ เซลล์มะเร็ง ผิวหนัง ( melanoma ) เซลล์มะเร็งต่อมนำเหลือง Non-Hodgkin's lymphoma. เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ ( Human colon adenocarcinoma ) เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก เซลล์มะเร็งรังไข่ เซลล์มะเร็งเต้านม และเนื่องจากขมิ้นยับยั้ง ไวรัสหูด HPV ซึ่งเป็นสาเหตุหลักและปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก ทำให้อาจจะมีที่ใช้ในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก ( อ้างอิงที่ 10-20 )

ขมิ้นบำรุงสมอง อาจจะช่วยเรื่องอัลไซเมอร์
ปัจจุบัน มีการค้นพบว่า โรคอัลไซเมอร์ หรือสมองเสื่อม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากในกลุ่มที่อายุน้อยลงเรื่อย ๆ และกลไกของการต้านอนุมูลอิสระ อาจมีบทบาทในการป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ ซึ่งตอนนี้ ได้มีงานวิจัย ที่บอกว่า ขมิ้นก็เป็นหนึ่งในสมุนไพรที่น่าจะมีบทบาทในการป้องกันโรคนี้ ( อ้างอิงที่ 21 )

ขมิ้นช่วยฆ่าเชื้อมาเลเรีย
สารสกัด เคอร์คิวมิน ในขมิ้น มีประสิทธิภาพที่ค้นพบทางการแพทย์เพิ่มเติมอีกหลายอย่าง เช่น พบคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อมาเลเรีย P Falciparum ทำให้ปัจจุบันมีการพัฒนาเพิ่มเติมที่จะนำมาใช้เป็นยารักษาหรือป้องกันมาเลเรีย (อ้างอิงที่ 22) การทดลองในหนูพบว่า หนูที่ได้รับประทานเคอร์คิวมิน สารสกัดจากขมิ้น สามารถลดปริมาณ เชื้อมาเลเรีย ( P Falciparum ) ได้ 80 - 90% ( อ้างอิงที่ 23 )
โดยสรุป ขมิ้นชันจึงจัดเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์กว้างขวาง ปลอดภัยเพราะเป็นพืชผักสวนครัว และมีงานวิจัยทางการแพทย์รองรับมาก เนื่องจากขมิ้นช่วยขับน้ำดี จึงมีข้อแนะนำไม่รับประทานในผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในท่อน้ำดี

ปัจจุบันนี้งานวิจัยของขมิ้นชันยังมีตลอดเวลา โดยมีแนวโน้มที่จะนำสารสกัดมาศึกษาเพิ่มเติม จึงเป็นสมุนไพรไทยที่น่าภูมิใจและน่าใช้สำหรับคนไทย อย่างไรก็ตามการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพจากขมิ้นชันควรเลือกจากผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต ( Good Manufacturing Practice หรือ GMP ) เป็นอย่างน้อย รวมถึงมีการควบคุมคุณภาพของขมิ้นชันให้มั่นใจได้ว่า ผลิตภัณฑ์ขมิ้นชันนั้นมีค่าสารสำคัญคือ เคอร์คิวมิน ตามมาตรฐานกำหนด มีความปลอดภัย

เอกสารอ้างอิง
1. An introduction to phytopharmacy. London: Pithman MedicalPublishing Co. Ltd., 1977, p. 158-176.
2. Effect of indigenous remedies on the healing of woundsand ulcers. JIMA. 1953; 22(7): 273-6.
3. Pharmacological study of Curcuma longa. Symposium of the Department of Medicinal Science, Bangkok Thailand. Dec 3-4, 1990.
4. Antithepatotoxic activity of crude drugs. Yakugaku Zasshi 1985; 105(2): 109-18.
5. Antithepatotoxic principles of Curcuma longa rhizomes. Planta Med 1983; 49: 185-7.
6. Protective effect of curcumin on myocardial ischemia reperfusion injury in rats Zhong Yao Cai. 2005 Oct;28(10):920-2.
7. Neuroprotective mechanisms of curcumin against cerebral ischemia-induced neuronal apoptosis and behavioral deficits. J Neurosci Res. 2005 Oct 1;82(1):138-48.
8. Potential synergism of natural products in the treatment of cancer. Phytother Res. 2006 Apr;20(4):239-49.
9. Chemopreventive properties of curcumin. Future Oncol. 2005 Jun;1(3):405-14.
10. Effects of curcumin on proliferation and apoptosis in human hepatic cells. Zhonghua Gan Zang Bing Za Zhi. 2002 Dec;10(6):449-51.
11. Curcumin (diferuloylmethane) inhibits constitutive active NF-kappaB, leading to suppression of cell growth of human T-cell leukemia virus type I-infected T-cell lines and primary adult T-cell leukemia cells. Int J Cancer. 2006 Feb 1;118(3):765-72
12. The effect of curcumin on bladder cancer cell line EJ in vitro. Zhong Yao Cai. 2004 Nov;27(11):848-50.
13. Preventive role of curcumin in lung cancer Przegl Lek. 2005;62(10):1180-1.
14. Apoptosis induced by curcumin and its effect on c-myc and caspase-3 expressions in human melanoma A375 cell line. Di Yi Jun Yi Da Xue Xue Bao. 2005
15. Anticancer effect of curcumin on human B cell non-Hodgkin's lymphoma. J Huazhong Univ Sci Technolog Med Sci. 2005;25(4):404-7.
16. Curcumin induces human HT-29 colon adenocarcinoma cell apoptosis by activating p53 and regulating apoptosis-related protein expression. Braz J Med Biol Res. 2005 Dec;38(12):1791-8. Epub 2005 Nov 9.
17. Curcumin-induced apoptosis in androgen-dependent prostate cancer cell line LNCaP in vitro. Zhonghua Nan Ke Xue. 2006 Feb;12(2):141-4.
18. Antiproliferation and apoptosis induced by curcumin in human ovarian cancer cells. Cell Biol Int. 2006 Mar;30(3):221-6. Epub 2005 Dec 22.
19. Antiproliferative effect of curcumin (diferuloylmethane) against human breast tumor cell lines.Anticancer Drugs. 1997 Jun;8(5):470-81.
20. Constitutive activation of transcription factor AP-1 in cervical cancer and suppression of human papillomavirus (HPV) transcription and AP-1 activity in HeLa cells by curcumin. Int J Cancer. 2005 Mar 1;113(6):951-60
21. A review of antioxidants and Alzheimer's disease. Ann Clin Psychiatry. 2005 Oct-Dec;17(4):269-86.
22. Curcumin for malaria therapy . Antimicrob Agents Chemother. 2006 May;50(5):1859-60..
23. Curcumin for malaria therapy. Biochem Biophys Res Commun. 2005 Jan 14;326(2):472-4.


ไม่มีความคิดเห็น: