วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2551

เห็ดหลินจือ สมุนไพรต้านมะเร็ง(เห็ดหมื่นปี เห็ดอมตะ เห็ดจวักงู)



เห็ดหลินจือ สมุนไพรต้านมะเร็ง(เห็ดหมื่นปี เห็ดอมตะ เห็ดจวักงู)


ชื่ออังกฤษคือ Holy mushroom แปลว่าเห็ดศักดิสิทธิ์หรือ Lacquered mushroom แปลว่าเห็ดที่มีผิวเหมือนทาแลคเกอร์ ในประเทศจีน เรียกเห็ดนี้ว่า Ling zhi ส่วนในญี่ปุ่น เรียกว่า Reishi
เห็ดหลินจือในธรรมชาติอาจขึ้นได้ ในป่าเขตอบอุ่น และเขตร้อน โดยอาจพบขึ้นกับต้นไม้ประเภท คูน ก้ามปู หางนกยูงฝรั่ง ยางนา ยางพารา มักจะขึ้นอยู่กับขอนไม้ที่ตายแล้ว บางครั้งพบเป็น พาราสิตของรากพืชก็ได้ จากการเพาะเห็ดจากเชื้อเห็ดในอุณหภูมิธรรมชาติในฤดูฝน เห็ดจะโตเป็นเส้นใยในเวลาประมาณ 2-3 สับดาห์ จากนั้นรอสักระยะหนึ่ง ในเวลาประมาณ 7-10 วัน เห็ดจะเริ่มโผล่ก้านออกมา และอีก 3 สัปดาห์จึงจะพัฒนาเต็มที่ เห็ดหลินจือเป็นเห็ดที่ใต้หมวกจะไม่มีครีบ แต่มีรูเล็กเป็นจำนวนมาก ในรูเหล่านี้จะมีสปอร์ของเห็ดมากมาย ด้านบนของหมวกจะมีสีน้ำตาลแดง ไปจนถึงสีน้ำตาลม่วงและดำ ผิวหมวกจะมีลักษณะเป็นมันเงาเหมือนเคลือบด้วยแลคเกอร์ มีก้านสั้นแต่ถ้าขึ้นจากโคนต้นไม้อาจไม่มีก้าน เมื่อเกิดใหม่ดอกเห็ดจะมีลักษณะเป็นแท่ง จากยอดโคนลงมาเป็นสีขาว เหลือง และน้ำตาล ต่อมาส่วนบนจะเจริญแผ่กว้างออกมาเป็นหมวกมีลักษณะคล้ายพัด และอาจมีรูปร่างคล้ายถั่วแดงหรือไต ดอกเห็ดที่สมบูรณ์จะมีสีน้ำตาลแดง สปอร์มีสีน้ำตาล รสขม รูปร่างรี ปลายด้านหนึ่งตัด ผนังหนา 2 ชั้น ชั้นนอกเรียบ ชั้นในยื่นคล้ายหนาม ดอกเห็ดแก่ขอบหมวกจะงุ้มลง สีเห็ดเข้มขึ้น และอาจมีดอกใหม่งอกซ้อนได้

บทบาทของเห็ดหลินจือ ( อ้างอิงที่1 )
เห็ดหลินจือเป็นเห็ดที่ชาวจีนมีความเชื่อว่ามีสรรพคุณทางยามานานนับพันปีแล้ว ถือเป็นเห็ดที่มีค่าและราคาแพง ในธรรมชาติมีได้แต่น้อยมาก สารเคมีที่พบในเห็ดหลินจือ มีมากมายหลายชนิด เมื่อวิเคราะห์ ในสารสำคัญ ของเห็ดหลินจือพบว่า มีสรรพคุณทางการแพทย์ที่สำคัญหลายอย่างได้แก่

1. ฤทธิต้านมะเร็ง แท้ที่จริงแล้วมีเห็ดมากกว่า 200 ชนิดที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งหลายชนิด ( อ้างอิงที่2 ) มีรายงานว่าสารสกัดจากเห็ดหลินจือและกระเที่ยม มีฤทธิ์ ยับยั้ง เอนไซม์บางอย่างที่จะช่วยในเรื่องการต้านมะเร็ง สำหรับเห็ดหลินจือ คือ Inhibition of Farnesyl protein transferase ( อ้างอิงที่ 3 ) นอกจากนี้สารสกัดจากเห็ดหลินจืออาจช่วยต้านมะเร็งโดยการเพิ่มสารทำลายมะเร็งจากเม็ดเลือดขาว ได้แก่สาร interleukin ( IL ) 1 beta, tumor necrosis factor ( TNF ) alpha, IL 6 และ interferon ( IFN ) gamma จากการทดลองในจานเพาะเลี้ยง พบว่าเม็ดเลือดขาว ชนิด macrophage เมื่อได้รับสารสกัด Polysaccharide จากเห็ดหลินจือ จะเพิ่มการสร้างสารเคมีดังกล่าว ตั้งแต่ 5 - 29 เท่า โดยหลักการจึงน่าจะดีต่อโรคมะเร็ง ( อ้างอิงที่ 4 ) นอกจากนี้ ยังพบสาร เบต้า ดี กลูแคน ( B- D- glucan ) ซึ่งเป็นสารพวกโพลีแซคคาไรด์ชนิดหนึ่ง พบได้ในเห็ดหลายชนิด รวมทั้งเห็ดหลินจือ และเห็ดหอม มีฤทธ์ต้านมะเร็ง จากการแยกสกัดและนำมาทดลองกับเซลล์มะเร็งโดยตรง ( อ้างอิงที่ 1 )

2. ลดความดันโลหิต สาร ประเภทไตรเทอร์ปีน มีหลายชนิด เช่นกรด กาโนเดอร์นิค ( Ganodernic acid ) มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตได้ โดยมีการทดลองในหนูและกรต่าย (อ้างอิงที่ 5, 6 )

3. ยับยั้งโรคเอดส์ สาร ประเภทไตรเทอร์ปีน ที่น่าสนใจอีกอย่าง ชื่อว่า lucidumol A, และ ganoderic acid ทั้ง alpha และbeta และสารอีกหลายชนิด มีฤทธิยับยั้งไวรัส โรคเอดส์ ( Anti HIV 1 )( อ้างอิงที่ 7, 8 ) ได้ อย่างไรก็ตาม การทดลองในคนไข้จริงยังไม่พบผลดีที่ชัดเจนในคนไข้โรคเอดส์ (อ้างอิงที่ 9 ) แต่สารสกัดจากเห็ดหลินจือก็ยังมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อไวรัสประเภทอื่นไดั้อีก เช่น ชนิดที่ก่อให้เกิดโรคในตระกของงูสวัด และอีสุกอีใส (type 1 (HSV-1) and type 2 (HSV-2)) โดยทดลองกับ Verocell ที่ติดเชื้อไวรัสนี้ ( อ้างอิงที่ 18 )

4. ลดน้ำตาลในเลือด สารกลุ่ม กลัยแคน ( Glycan ) เช่น กาโนเดอร์แลน ( Ganoderan A, B,C ) มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ( อ้างอิงที่ 10,11 )

5. ฤทธิ์ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกร็ดเลือด ในเห็ดหลินจือมีสารอะดีโนซีน ( Adenosine ) ซึ่งยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกร็ดเลือดได้และผลด้านนี้เด่นชัดโดยมีการทดลองในคนจริงๆแล้ว ซึ่งจะขอกล่าวทีหลัง ( อ้างอิงที่ 12 )

6. อาจช่วยบำรุงตับ ฤทธิ์ทางด้านการจับอนุมูลอิสระ ( Free Radical Scavenger ) ซึ่งมีผลต่อการลดความเป็นพิษจากสารพิษได้บ้าง โดยปกติ ตับจะเป็นอวัยวะที่ทำลายสารพิษ และต้องเจอสารพิษเป็นประจำ จากการวิจัยพบว่า น้ำคั้นจากเห็ดหลินจือ ทั้งชนิด Ganoderma lucidum , Gaonderma formosanum, Ganoderma neojaponicum ลดความเป็นพิษของสารคาร์บอนเตตระคลอไรด์ ต่อตับหนูได้ ( อ้างอิงที่ 13 ) นอกจากนี้ ฤทธิ beta glucoronidase inhibitory activity ของสารสกัดเห็ดหลินจือ และ สารโพลีแซคคาไรด์ บางชนิดคือ Pentoxyfylline, Glycyrrhizin ยังมีฤทธิยับยั้งการสร้างพังผืด ( fibrous tissue ) ในตับได้ จึงอาจช่วยเรื่องตับแข็งได้ แต่การทดลองนี้อยู่ในขั้นหนูทดลองเท่านั้น (อ้างอิงที่ 14, 15 )

7. ผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน สารกลุ่มโปรตีนเช่น Ling zhi ( LZ-8 ) พบว่ามีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย โดยสามารถทั้งเพิ่มการแบ่งตัว ( mitogenic ) ต่อเซลล์ม้ามของหนู แต่กลับลดการสร้างภูมิต้านทาน ซึ่งทำให้โรคเบาหวานบางชนิดของหนูลดลง ( autoimmune diabetes ) และทำให้การปลูกถ่ายผิวหนังหนูสำเร็จในระยะเวลาที่นานขึ้น (อ้างอิงที่ 16 ) ตรงประเด็นนี้ มีความหลากหลายในเนื้อหามาก และยังไม่อาจสรุปได้ชัดเจนว่ามีส่วนช่วยต้านทานโรคใด ๆ บ้าง

การวิจัยที่ได้กระทำในผู้ป่วยจริง
การทดลองในคนจริงที่ได้รับประทานเห็ดหลินจือที่มีบันทึกไว้ชัดเจนมีไม่มากนัก รายงานแรกในปี 1998 จากญี่ปุ่นว่า การได้รับสารสกัดเห็ดหลินจือ 36 -72 กรัม ด้วยน้ำร้อน สามารถลดอาการปวดของโรคงูสวัด ได้ ในผู้ป่วย 4 ราย โดย 2 รายเป็นอาการปวดในปัจจุบัน ที่ดีขึ้น และ 2 รายเป็นการปวดจากแผลเป็นเก่า ( อ้างอิงที่ 17 )

รายงานถัดมาเป็นการวัดการแข็งตัวของเกร็ดเลือด ในผู้ป่วยที่มีโรคเส้นเลือดแข็ง ( Atherosclerosis ) จำนวน 33 คน โดยทานเห็ดหลินจือ 1 กรัม 3 เวลา เป็นเวลา 2 อาทิตย์ และทดสอบการจับตัวของเกร็ดเลือด ( Platelet aggregation ) เมื่อกระตุ้น ด้วยสาร ADP พบว่าการจับตัวของเกร็ดเลือดน้อยลงโดยหลักการจึงน่าจะดีในโรคที่มีเส้นเลือดอุดตัน หรือโรคหัวใจขาดเลือด (อ้างอิงที่ 12 )

รายงานถัดมาทำในประเทศไทย โดยอาจารย์ นพ. ประพันธ์ ภานุภาค คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ โดยทดลองให้ผงเห็ดหลินจือ Ganoderma lucidum จาก ญี่ปุ่น ในคนไข้โรคเอดส์ ระยะที่มีอาการแล้ว 10 คน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าคนไข้ทุกคนสามารถรับยาได้เป็นอย่างดี แต่ไม่พบผลดีใดๆเกิดขึ้นทั้งอาการทางคลีนิค จำนวนไวรัส และค่าเม็ดเลือดขาว CD4 ซึ่งผู้วิจัยอธิบายว่าที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะว่าสารที่ออกฤทธิต่อไวรัส ในตัวเห็ด คือ terpenoids และ polysaccharides ตัวอื่น รวมทั้ง beta-D-glucan อาจมีน้อยเกินไป การสกัดให้ได้สารในความเข้มข้นสูงขึ้นจึงอาจมีประโยชน์ที่ดีกว่านี้ ( อ้างอิงที่ 9 )

กล่าวโดยสรุป เห็ดหลินจือมีสารออกฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์มากมาย สารต่างๆนี้เมื่อมาวิเคราะห์แยกออกมาทดลอง หรือนำน้ำคั้น หรือสารสกัดจากเห็ดหลินจือด้วยอัลกอฮอล์มาทดลองกับเซลล์ต่างๆโดยตรง ต่างก็มีผลดี และยังไม่พบอันตรายใดๆ โดยหลักการแล้วการบริโภคจึงน่าจะเป็นประโยชน์ อย่างไรก็ตามไม่สามารถกล่าวอ้างได้ว่า จะช่วยรักษาหรือป้องกันโรคอะไรได้อย่างชัดเจนได้ เพราะยังมีการวิจัยที่ได้ผลดังกล่าวน้อยมากในการทดลองจริงในคนไข้ อาจเป็นเพราะ ยังขาดการวิจัยในเรื่องเหล่านี้ หรือ สารที่ทรงคุณค่าเหล่านั้นอาจมีในปริมาณที่น้อยมากๆ หรือมีแต่ถูกทำลายไปในขั้นตอนการเตรียมการผลิต อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานการศึกษาว่าจะรบกวนยาทางการแพทย์สมัยใหม่ และยังไม่มีรายงานว่าจะมีอันตรายใดๆจากการรับประทานนานๆ เห็ดหลินจือจัดเป็นอาหารสุขภาพตัวหนึ่งที่น่าสนใจ และเป็นทางเลือกทางหนึ่งสำหรับผู้บริโภคครับ

เอกสารอ้างอิง
1. วันดี กฤษณะพันธ์ รศ. ดร. สมุนไพรน่ารู้ .สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. โรงพิพ์จุฬาลงกรณ์มหวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่2 2539:228-230
2. Wasser SP. Therapeutic effects of substances occurring in higher basidiomycetes mushrooms: a modern perspective . Crit Rev Immunol 1999; 19: 65-96.
3. Lee S. Natural inhibitors for protein prenyltransferase. Planta Med 1998; 64: 303-308.
4. Wang SY. The anti-tumor effect of Ganoderma lucidum is mediated by cytokines released from activated macrophages and T lymphocytes. Int J Cancer 1997; 70: 699-705.
5. Kabir Y. Dietary effect of Ganoderma lucidum mushroom on blood pressure and lipid levels in spontaneously hypertensive rats (SHR). J Nutr Sci Vitaminol (Tokyo) 1988; 34: 433-438.
6. Lee SY. Cardiovascular effects of mycelium extract of Ganoderma lucidum: inhibition of sympathetic outflow as a mechanism of its hypotensive action. Chem Pharm Bull (Tokyo) 1990; 38: 1359-1364.
7. el-Mekkawy S. Anti-HIV-1 and anti-HIV-1-protease substances from Ganoderma lucidum. Phytochemistry 1998; 49: 1651-1657.
8. Min BS. Triterpenes from the spores of Ganoderma lucidum and their inhibitory activity against HIV-1 protease. Chem Pharm Bull (Tokyo) 1998; 46: 1607-1612.
9. Praphan Phanuphak .Clinical Study of Micronized Reishi Mushroom in Thai HIV Patients. Faculty of Medicine, Chulalongkorn University, Thailand
10. Hikino H. Mechanisms of hypoglycemic activity of ganoderan B: a glycan of Ganoderma lucidum fruit bodies. Planta Med 1989; 55: 423-428.
11. Hikino H. Hypoglycemic actions of some heteroglycans of Ganoderma lucidum fruit bodies. Planta Med 1989; 55: 385
12. Tao J. Experimental and clinical studies on inhibitory effect of ganoderma lucidum on platelet aggregation. J Tongji Med Univ 1990; 10: 240-243.
13. Lin JM. Radical scavenger and antihepatotoxic activity of Ganoderma formosanum, Ganoderma lucidum and Ganoderma neo-japonicum. J Ethnopharmacol 1995; 47: 33-41.
14. Park EJ. Antifibrotic effects of a polysaccharide extracted from Ganoderma lucidum, glycyrrhizin, and pentoxifylline in rats with cirrhosis induced by biliary obstruction [published erratum appears in Biol Pharm Bull 1998 Jun;21(6):649]. Biol Pharm Bull 1997; 20: 417-420.
15. Kim DH. Beta-glucuronidase-inhibitory activity and hepatoprotective effect of Ganoderma lucidum . Biol Pharm Bull 1999; 22: 162-164.
16. van der Hem LG. Ling Zhi-8: studies of a new immunomodulating agent. Transplantation 1995; 60: 438-443.
17. Hijikata Y. Effect of Ganoderma lucidum on postherpetic neuralgia . Am J Chin Med 1998; 26: 375-381.
18. Kim Y. Antiherpetic activities of acidic protein bound polysacchride isolated from ganoderma lucidum alone and in combinations with interferons. J Ethnopharmacol 2000 Oct;72(3):451-8 2001;72(3):451-8.


ไม่มีความคิดเห็น: