วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2551

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrient )

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrient )

อาหารประเภทผัก ผลไม้ เป็นอาหารธรรมชาติที่มีสารสำคัญที่เรียกว่า Phytonutrient ( ไฟโตนิวเทรียนท์ ) มากมายหลายชนิด ไฟโตนิวเทรียนท์ เป็นสารธรรมชาติ ในผักผลไม้ที่เป็นสารสำคัญที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย หลายประการ ทั้งนี้ด้วยกลไกที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ( Antioxidant ) จากธรรมชาติ อนุมูลอิสระคือ โมเลกุลที่มีธาตุที่ไม่มั่นคงเนื่องจากขาด อิเลกตรอน ไป 1ตัว อนุมูลอิสระ ถือเป็นสารพิษที่สำคัญต่อเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย ถ้ามีมากในเซลล์ก็เป็นอันตรายได้ โดยจะทำลาย ดีเอนเอ เยื่อหุ้มเซลล์ และองค์ประกอบอื่นๆของเซลล์ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า อนุมูลอิสระเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นการก่อให้เกิดการอักเสบ ซึ่งเป็นการทำลายเนื้อเยื่อในระยะสั้น หรือมีผลในระยะยาวโดยเป็นสาเหตุของ ความเสื่อมหรือการแก่ของเซลล์ และอาจเป็นสารการก่อมะเร็ง โรคหัวใจ ต้อกระจก โรคทางภูมิคุ้มกันและโรคเรื้อรังอีกหลายชนิด

อนุมูลอิสระ มีที่มาทั้งแหล่งภายนอกและภายในร่างกาย อนุมูลอิสระที่มาจากภายนอก ได้แก่ มลพิษในอากาศ ฝุ่น ควันบุหรี่ แสงแดด ความร้อน รังสีบางชนิด ยาบางชนิด จากแหล่งภายในร่างกาย ซึ่งส่วนมากจะเป็นของเสียในขบวนการเมตาโบลิสม ของเซลล์ เมื่อเกิดอนุมูลอิสระแล้ว ร่างกายก็มีกลไกที่จะกำจัด อนุมูลอิสระ เหล่านี้โดยใช้เอนไซม์ต่าง ๆ และใช้สาร ไฟโตนิวเทรียนท์ที่สำคัญ เช่น วิตามิน อี ( a-tocopherol ) เบตาคาโรทีน ( Beta-carotene ) และวิตามิน ซี (Vitamin C) จากผักผลไม้และอาหาร

ไฟโตนิวเทรียนท์จากผักและผลไม้ ถือเป็นแหล่งสำคัญของสารต้านอนุมูลอิสระจำนวนมาก ปัจจุบัน จึงมีการสนับสนุนให้ทานผักและผลไม้มากขึ้น โดยมีความเชื่อว่าอาจลดการก่อมะเร็ง ลดการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดและ โรคเรื้อรังบางชนิด

ไฟโตนิวเทรียนท์ที่มีในผักและผลไม้ที่ทำหน้าที่เป็นสารต้าอนุมูลอิสระและมีคุณประโยชน์เป็นที่ยอมรับ มีดังนี้คือ ชาเขียว มี สารสำคัญเป็น Polyphenol (โพลีฟีนอล) ที่ชื่อ Catechin (คาเทชิน) ทับทิม มี สารประเภท Flavonoid (ฟลาโวนอยด์) แครอท มี Beta-carotene ( เบต้าคาโรทีน ) มะเขือเทศ มี Lycopene (ไลโคปีน) มิกซ์เบอร์รี่ มี Flavonoid ชื่อ Anthocyanosides (แอนโธไซยาโนไซด์) ใน Bilberry อะเซโรลา เชอร์รี่ มี Vitamin C ถือเป็นแหล่งวิตามินซีธรรมชาติที่มีคุณภาพสูง บร็อคโคลี่ มี Sulforaphane (ซัลโฟราเฟน) โรสแมรี่ มี Rosemarinic acid (โรสแมรินิค แอซิด) แอปเปิ้ล มีสารประเภท Polyphenol (โพลีฟีนอล) เช่นกัน อัลฟัลฟ่า มี Saponins (ซาโปนิน) มะกอกมี Oleuropein (โอลีโรเปอิน) เมล็ดองุ่นมี Proanthocyanidin (โปรแอนโธไซยานิดิน) หรือ พีซีโอ (PCO: Procyanidolic Oligomers)ขมิ้นมีสารสำคัญคือ Curcumin (เคอร์คิวมิน) ผักโขม มีใยผัก วิตามินแร่ธาตุหลายชนิด

รายงานที่บอกว่าการทานผักและผลไม้ สามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมีมากมายซึ่งคิดว่ากลไกทั้งด้านที่ผักและผลไม้มีสารกากใยมากซึ่งจะช่วยทางด้านลดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ( อ้างอิงที่ 1 ) นอกจากนี้คือกลไกทางด้านต้านอนุมูลอิสระ จากสารไฟโตนิวเทรียนท์ ตัวอย่างรายงานวิจัยเรื่องลดความเสี่ยงของโรค มะเร็ง มีมากมาย รายงานแรก พบว่า ผักและผลไม้ลดความเสี่ยงต่อมะเร็งกระเพาะอาหารได้ ถึง 5.5 เท่า ซึ่งรายงานนี้ก็เป็นรายงานใหญ่ในการศึกษาแบบติดตามคนไข้ถึง 11,546 คนเป็นเวลา 25 ปี ( อ้างอิงที่ 2 ) ผักและผลไม้ลดความเสี่ยงต่อมะเร็งปอด ก็มีรายงานเช่นกัน ( อ้างอิงที่ 3 ) บางรายงานตรวจสอบชัดลงไปได้ถึงชนิดของผักด้วยเช่นพบว่า ผักที่มีสีเหลืองเช่น แครอท พบว่าลดมะเร็งของปอดได้มากกว่าผักชนิดอื่นเป็นต้น ( อ้างอิงที่ 4 ) นอกจากนี้มีรายงานใหญ่ที่ติดตามการเป็นมะเร็งของประชากร 10,068 คน เป็นเวลาถึง 19 ปี ซึ่งในจำนวนนี้พบมะเร็งปอด 248 คน แต่ก็พบว่ากลุ่มที่มีการทานผักและผลไม้ที่มีวิตามิน เอ หรือ เบต้าคาโรทีน จะสามารถลดความเสี่ยงของมะเร็งปอดได้ ( อ้างอิงที่ 5 ) การทานผักและผลไม้ที่มี เบต้าคาโรทีน วิตามิน ซี วิตามิน อี สูงสามารถที่จะลดอุบัติการการเป็นมะเร็งเต้านมได้จริงในสตรีวัยเจริญพันธ์ จากการติดตาม คนไข้ 83,234 คน เป็นเวลา 14 ปี ( อ้างอิงที่ 6 ) มะเร็งกระเพาะปัสสาวะลดความเสี่ยงได้ด้วยการทาน ผักประเภท บร็อคโคลี และหัวผักกาด ( อ้างอิงที่ 7 ) นอกจากนี้ผักและผลไม้ที่มี เบต้าคาโรทีนสูงก็มีผลต่อการลดอุบัติการณ์ของโรคหัวใจขาดเลือดได้จริง จากการวิจัยย้อนหลังในคนไข้ 4,802 คนติดตามไป 4 ปี ( อ้างอิงที่ 8 )

การรับประทานผักและผลไม้ จึงมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างแท้จริง ในผู้ที่ไม่สามารถจะทานผักและผลไม้ได้ หรือทานได้น้อย ปัจจุบันก็มีอาหารสุขภาพที่สกัดสารสำคัญจากผักและผลไม้ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้บริโภค

เอกสารอ้างอิง
1. Relationship between the intake of high-fibre foods and energy and the risk of cancer of the large bowel and breast. Eur J Cancer Prev 1998;7 Suppl 2:S11-7:S11-7.
2. Protective effect of fruits and vegetables on stomach cancer in a cohort of Swedish twins. Int J Cancer 1998;76(1):35-7.
3. Dietary factors and risk of lung cancer in never-smokers. Int J Cancer 1998;78(4):430-6.
4. Vegetable and fruit intake and the risk of lung cancer in women in Barcelona, Spain. Eur J Cancer 1997;33(8):1256-61.
5. Intake of vitamins E, C, and A and risk of lung cancer. The NHANES I epidemiologic followup study. First National Health and Nutrition Examination Survey. Am J Epidemiol 1997;146(3):231-43.
6. Dietary carotenoids and vitamins A, C, and E and risk of breast cancer. J Natl Cancer Inst 1999;91(6):547-56.
7. Fruit and vegetable intake and incidence of bladder cancer in a male prospective cohort. J Natl Cancer Inst 1999;91(7):605-13.
8. Dietary antioxidants and risk of myocardial infarction in the elderly: the Rotterdam Study. Am J Clin Nutr 1999;69(2):261-6.


ไม่มีความคิดเห็น: