วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2551

โสมเป็นพืชสมุนไพรที่มีคนรู้จักมากที่สุดในโลก



โสมเป็นพืชสมุนไพรที่มีคนรู้จักมากที่สุดในโลก


โสมถือเป็นราชาแห่งสมุนไพรทีเดียว และถูกนำมาใช้เป็นเวลานานกว่า 2000 ปี แล้ว โสมมีอยู่ด้วยกัน สามสายพันธ์ คือ โสมเอเชีย เช่น จีน เกาหลี (Panax ginseng, C.A. Meyer) โสมอเมริกัน และแคนาดา (Panax quinquefolium ) และโสมไซบีเรีย ( Eleutherococcus senticosus ) แต่อย่างหลังสุด ไม่ใช่โสมที่แท้จริงตามสายพันธ์ของโสม แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามีระบบการทำงานคล้ายโสม โสมเอเชีย มีถิ่นกำเนิดในตอนเหนือของจีน เกาหลีและประเทศสหรัฐอเมริกา ในตำรายาแผนโบราณของจีน ระบุว่า โสมเป็นสมุนไพรที่ช่วยเสริมความแข็งแรงให้แก่ระบบย่อยอาหาร และปอด ช่วยทำให้จิตใจสงบและเพิ่มพละกำลังโดยส่วนรวม

สำหรับสรรพคุณทางวิชาการทางการแพทย์ที่น่าสนใจ รวมถึงความปลอดภัย มีดังนี้

1. ช่วยบำรุงหัวใจ โสมมีสรรพคุณในการช่วยบำรุงหัวใจโดยออกฤทธิคล้ายกับยาหัวใจ ( digoxin ) ( อ้างอิงที่ 1 )
2. ป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด มีงานวิจัยในผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจ ( Cardiac surgery ) มีการลองให้โสมและวัดทั้งการบีบตัว ดูผลของการขาดอ๊อกซิเจนด้วย ( อ้างอิงที่ 2 )
3. เสริมประสิทธิภาพทางเพศในชาย มีงานวิจัยในผู้ป่วยที่มีปัญหาองคชาติไม่แข็งตัว ( Erectile dysfunction ) 45 รายโดยรับประทานโสมเกาหลี ปริมาณ 900 ม.ก. 3 ครั้งต่อวันเป็นเวลาสองเดือน พบว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในการประเมินอย่างละเอียดทุกด้าน โสมจึงช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย ( อ้างอิงที่ 3,4 )
4. ลดและป้องกันมะเร็ง มีงานวิจัยของเกาหลีพบว่า การรับประทานโสมเกาหลี เป็นเวลานานสามารถลดอุบัติการณ์ของมะเร็งตับลงได้ด้วยการทำงานในด้านการต้าน อัลฟาทอกซินบี และยูรีเทน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อยพอควรในมะเร็งตับ แต่ก็ยังไม่สามารถลดมะเร็งตับจากการดื่มสุราหรือสาเหตุอื่นได้ ในการวิจัยย้อนหลัง ( Case control study ) ซึ่งเป็นการวิจัยที่เหมาะสมในการหาความเสี่ยงและสารป้องกันการเกิดมะเร็งในคน พบว่า ในคนที่ทานโสม มีอุบัติการณ์หรือโอกาสเป็นมะเร็งลดลงอย่างมาก มะเร็งที่ลดลงเมื่อทานโสมได้แก่ มะเร็งริมฝีปาก ช่องปากและคอ มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งรังไข่ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมีนักวิทยาศาสตร์ชาวไต้หวันคือ ดร. Chang YS ก็ตีพิมพ์งานวิจัย แนะนำว่า ถึงเวลาแล้วที่โสมจะเป็นหนึ่งในทีมยารักษามะเร็งได้แล้ว ( อ้างอิงที่ 5 )
5. โสมมีสรรพคุณช่วยในเรื่องโรคปอดเรื้อรังชนิดที่พบบ่อยที่สุด คือโรคถุงลมโป่งพอง ( COPD ) โรคนี้พบได้บ่อยมาก เพราะเป็นผลงานของการสูบบุหรี่ติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน งานวิจัยของโสมแบบการทดลองที่มีกลุ่มควบคุมชัดเจนได้ทำให้ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง 92 คนแบ่งเป็นกลุ่มวิจัยที่ได้สารสกัด โสม วันละ 200 มก 49 คน และกลุ่มควบคุม ได้รับยาหลอก อีก 43 คน เป็นเวลา 3 เดือน พบว่ากลุ่มที่ได้รับโสม มีสมรรถภาพทางปอดดีขึ้นอย่างมากในทุกด้าน โดยที่ไม่มีผลข้างเคียง แต่กลุ่มที่ได้รับยาปลอมไม่มีผลดีขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้นถ้าจะทานโสมในผู้ที่เป็นโรคนี้ก็น่าจะเกิดประโยชน์ เพราะมีงานวิจัยนี้สนับสนุนแล้ว ( อ้างอิงที่ 6 )
6. โสมมีความปลอดภัยสูง สามารถรับประทานต่อเนื่องได้เป็นระยะเวลายาวนาน ผลข้างเคียงมีน้อยมาก ที่พบได้มีแค่ อาการปวดศีรษะ และทางเดินอาหาร และรบกวนการนอนหลับเท่านั้น ยาที่ไม่ควรทานร่วมกับโสมก็มีเพียง สามสี่ตัว คือ ยาต้านการแข็งตัวของเลือดอย่างแรงชื่อ warfarin ยากระตุ้นหัวใจชื่อ digoxin ยาแก้เศร้าชื่อ Phenelzine และสุรา ( อ้างอิงที่ 7 ) อาจมีการรบกวนประจำเดือน อาการเจ็บหน้าอกขณะมีประจำเดือน และก็มีรายงานถึงคนที่แพ้ได้อย่างรุนแรงได้โดยมีอาการทางผิวหนัง แต่ทั้งหมดนี้เกิดได้น้อยมาก ( อ้างอิงที่ 8 )

อย่างไรก็ตามมีข้อแนะนำว่าหากต้องการให้ปลอดภัยที่สุด ไม่ควรทานโสมกับยาแอสไพริน รวมถึงไม่ควรทานอย่างยิ่งในสตรีตั้งครรภ์และเด็ก ไม่ควรทานในคนที่ตับอักเสบคือมีเอนไซม์ของตับสูงแล้ว ( ไวรัสตับอักเสบบีที่เป็นพาหะ ยังไม่มีเอนไซม์สูงจะทานได้ ) หรือตับอักเสบจนตัวเหลืองตาเหลืองหรือตับโต ดังนั้นถ้าเรามีโรคประจำตัวควรถามหมอของเราก่อนว่าจะทานได้ไหม และเนื่องจากโสมเป็นของร้อนบางคนทานแล้วก็หงุดหงิด ถ้าอยากจะทานให้อายุวัฒนะจริงๆก็ให้ทานร่วมกับใบบัวบก ซึ่งเป็นของเย็น จะดีที่สุด ซึ่งคนอายุยืนมาก ๆ ก็ทานโสมกับใบบัวบกเป็นประจำ

เอกสารอ้างอิง :

1. Effects of red ginseng on the congestive heart failure and its mechanism . Zhongguo Zhong Xi Yi Jie He Za Zhi 1995;15(6):325-7.
2. Protective effects of ginsenoside on myocardiac ischemic and reperfusion injuries. Zhonghua Yi Xue Za Zhi 1994;74(10):626-8, 648
3. Clinical efficacy of Korean red ginseng for erectile dysfunction. Int J Impot Res 1995;7(3):181-6.
4. A double-blind crossover study evaluating the efficacy of Korean red ginseng in patients with erectile dysfunction: a preliminary report J Urol. 2002 Nov;168(5):2070-3.
5. Experimental and epidemiological evidence on non-organ specific cancer preventive effect of Korean ginseng and identification of active compounds Mutat Res. 2003 Feb-Mar;523-524:63-74
6. Ginseng improves pulmonary functions and exercise capacity in patients with COPD. Monaldi Arch Chest Dis. 2002 Oct-Dec;57(5-6):242-6.
7. Panax ginseng: a systematic review of adverse effects and drug interactions. Drug Saf 2002;25(5):323-44
8. The safety of herbal medicines in the psychiatric practice. Harefuah 2001 Aug;140(8):780-3, 805


ไม่มีความคิดเห็น: